Custom Search
 


ปวดหลัง ปวดเอว

อาการปวดหลัง ปวดเอว เกิดจากอะไร

โดยทั่วไปแล้วมักมี สาเหต ด้ 3 อย่าง


1.ปวดจากกล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก และเกร็งมากไป มักเป็นในคนที่ก้มยกของหนัก หรือทำงานที่ต้องก้มทั้งวัน

2.ปวดจากโรคไตอักเสบ และอาจมีนิ่วที่ไต ลักษณะมักจะมีไข้ปวดเอว ปัสสาวะอาจมีแสบ ขัดขุ่น ถ้าเคาะเบา ๆ ที่เอวด้านที่ปวดจะเจ็บมากจนสะดุ้ง

3.ปวดจากกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังที่เอวกดทับเส้นประสาท มักเป็นในคนเลยวัยกลางคนแล้ว คนที่ต้องแบกของหนักเสมอ หรือผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุที่บริเวณหลัง พวกนี้อาการปวดเอวมักจะร้าวไปที่สะโพก ต้นขา และปลายเท้า บางคนเท้าจะอ่อนแรง หรือชาด้วย อาการอาจ ค่อยเป็นค่อยไป หรือบางคน ก้มยกของหนักแล้ว หมอนรองกระดูกก็ปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาท ทำให้ปวดกะทันหันก็มี

จะทราบได้อย่างไรว่า เกิดจากอะไร

สามารถลองทดสอบด้วยตัวเองได้ โดยทำเป็นขั้น ๆ ดังนี้

ขั้นแรก ลองให้นอนหงายบนพื้นแข็ง ๆชันเข่าขึ้นบน ท่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหลังคลายตัว ถ้าอาการดีขึ้น ก็น่าจะเป็นจากการใช้หลังมากเกินไป

ขั้นต่อไป ลองใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ที่บั้นเอวข้างที่ปวด ถ้าปวดจนสะดุ้ง ร่วมกับมีไข้ ปัสสาวะแสบ ขัด ขุ่น ก็มีโอกาสเป็นไตอักเสบ ให้รีบไปหาหมอทันที ถ้าทุบแล้วบอกว่าสบาย อาการดีขึ้นก็น่าจะเป็นจากปวดกล้ามเนื้อ นอนพักก็หาย

ขั้นสุดท้าย ลองนอนหงาย เหยียดขา  2 ข้างออก แล้วให้คนอื่นยกขาข้างที่ปวดเอวขึ้นมาตรง ๆ เร็ว ๆ โดยที่ขาอีกข้างยังเหยียดราบอยู่ ถ้าเกิดอาการปวดเอวด้านที่ยกขาขึ้น และปวดร้าวแปลบไปที่ปลายเท้า ก็น่าจะเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ต้องรีบหาหมอเหมือนกัน

อาการปวดหลังที่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อหลังมากเกินไป จะแก้ไขอย่างไร

วิธีการแก้ไข ก็ไม่ยาก สามารถทำได้ดังนี้

1.อย่าใช้กล้ามเนื้อหลังเกินความจำเป็น เช่น จะยกของก็ให้นั่งลง แล้วค่อย ๆ ยกของยืนขึ้นมา แทนที่จะก้มลงไปยก แต่ถ้าต้องก้มทำงานบ่อย ๆ ก็ต้องมีระยะพักบ้าง

2.บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อหลังอย่างสม่ำเสมอ ด้วยท่าบริหารที่ง่าย ๆคือ ท่านนอนหงาย ชันเข่าขึ้น แล้วยกคอขึ้นชิดอก และท่านอนคว่ำ เหยียดขาออก 2 ข้างขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำสัก 10 ครั้ง วันละ 2 รอบ นอกจากนี้การออกกำลังกายโดยการเดิน วิ่ง ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ ก็มีส่วนบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง และหลังด้วย

3.ระวังอิริยาบถต่าง ๆ  เช่น ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน อย่าให้กระดูกสันหลังบิดเบี้ยว

4.การประคบด้วยความร้อน ซึ่งความร้อนจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายความเครียด และทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี

5.การใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 3 – 4 วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์


ที่มา : เอกสารถามมาสิ ... เราตอบได้ ขององค์การเภสัชกรรม 


 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


Copy right © 2008 - 2010 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154